กราฟิกดีไซน์คืออะไร กับ 7 องค์ประกอบพื้นฐานของชิ้นงานกราฟิกที่ดี
การออกแบบกราฟิกที่ดี
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของการออกแบบกราฟิกที่ดี เรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีมั้ยครับว่า กราฟิกดีไซน์คืออะไร
กราฟิกดีไซน์ (graphic design) หรือที่เราเรียกกันว่า การออกแบบกราฟิกนั้น คือศาสตร์และศิลป์ในการสื่อสารไอเดียผ่านภาพและข้อความ (visual and textual content) โดยกราฟิกดีไซเนอร์ จะทำหน้าที่ออกแบบโดยผสมผสานองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งภาพ สี ลายเส้น ข้อความ ฟอนต์ พื้นที่ว่าง ฯลฯ เพื่อให้งานชิ้นนั้น ๆ สามารถสื่อสาร ให้ข้อมูล หรือไปแตะการรับรู้ของผู้พบเห็นเพื่อให้พวกเขาเกิดความรู้สึกหนึ่ง ๆ อย่างที่มุ่งหวัง
กราฟิกดีไซน์จึงกว้างมากและพบเห็นได้ในทุกที่ ตั้งแต่โลโก้ นามบัตร ฉลากสินค้า ปกหนังสือ แผ่นพับ โปสเตอร์ infographic หน้าเว็บไซต์ หน้าแอปในโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงป้ายบิลบอร์ด
กราฟิกดีไซน์เป็นจุดเชื่อมโยงของ ““ธุรกิจหรือองค์กร”” กับ “ผู้บริโภค”
กราฟิกดีไซน์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ใช้ภาพเป็นหลัก อยู่ตรงกลางระหว่าง “ธุรกิจ” กับ “ศิลปะ” หมายความว่า ชิ้นงานนั้นจะมุ่งแต่การขายของ โปรโมต บอกเล่าเรื่องราวของโปรดักส์อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้อง “สวย” ด้วยเพื่อหยุดให้หยิบขึ้นมาดู กระตุ้นให้อยากรู้ อยากอ่านต่อ หรือประทับเข้าไปจิตใจว่านี่คือแบรนด์อะไร ไปจนถึงสร้างความน่าเชื่อถือในตัวแบรนด์หนึ่ง ๆ
7 องค์ประกอบเพื่อการออกแบบกราฟิกที่ดี
กราฟิกดีไซน์เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของทุกองค์กรในการสื่อสาร มีส่วนในการสร้างการรับรู้ สร้างภาพลักษณ์ที่ดี สร้างการจดจำ ไปจนถึงสร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็น แล้วงานออกแบบกราฟิกที่ดีต้องมีปัจจัยอะไรบ้างที่ต้องพิจารณา
1. สี (colour)
สี (colour) หลากหลายที่สามารถนำมาใช้ประกอบงานกราฟิกดีไซน์
สีถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความน่าสนใจ สื่ออารมณ์ เน้นย้ำความสำคัญ สร้างแบรนด์ และสร้างความต่อเนื่องของงานออกแบบ สีในงานกราฟิกจะมีทั้งสีหลัก (primary colour) สีรอง (secondary colour) และกลุ่มสี (colour palette) ที่เมื่ออยู่ด้วยกันแล้วเกิดความกลมกลืนและทำให้ชิ้นงานนั้นน่าสนใจ นอกจากนี้ สีแต่ละสีต่างก็มอบความรู้สึกที่แตกต่างกัน ดังนั้นกราฟิกดีไซเนอร์จึงต้องเข้าใจ colour psychology และมี sense ในการเลือกใช้สีและจับคู่สีด้วย
2. เส้น (line)
งานออกแบบกราฟิกที่ใช้ เ้สน (line) เพื่อช่วยสร้างรูปแบบ และเน้นความน่าสนใจ
ในงานออกแบบกราฟิก เส้นถูกนำมาใช้ด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น การเน้นข้อความ การสร้างความเชื่อมโยงหรือความต่อเนื่องของเนื้อหา การแบ่งหัวข้อเพื่อให้อ่านง่าย การสร้างสไตล์ที่ชัดเจน
3. กริด (grid)
กริด (grid) ตัวช่วยในการออกแบบ จัดวางเลย์เอาท์ของงานกราฟิกดีไซน์
เมื่อพูดถึงเส้นแล้ว สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้ในงานออกแบบกราฟิกที่ดีก็คือ กริด
กริดเกิดจากเส้นในแนวตั้งตัดกันกับเส้นในแนวนอนเกิดเป็นสี่เหลี่ยมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งดีไซเนอร์จะนำโครงสร้างนี้มาใช้ในการวางเลย์เอาต์ในงานออกแบบเพื่อจัดวางตำแหน่งของภาพและเนื้อหาให้เกิดความเป็นระเบียบ นำสายตา เรียงลำดับความสำคัญ สร้างความสมดุลและความลงตัว ตลอดจนสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชิ้นงาน (design consistency) โครงสร้างของเส้นที่ตัดกันดังกล่าว เราจะเรียกว่า grid system เป็นเส้นที่มองไม่เห็นที่นักออกแบบนำมาใช้เป็นเทมเพลตหรือโครงสร้างในการออกแบบนั่นเอง
4. ขนาด (size)
ขนาด (size) ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันของแต่ละสื่อ ต้องใช้การจัดวางองค์ประกอบการดีไซน์ที่เหมาะสม
ขนาดเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในทุกองค์ประกอบของงานออกแบบกราฟิก ไม่ว่าจะเป็นขนาดของภาพ ตัวอักษร หรือแม้แต่พื้นที่ว่าง
อย่างไรก็ดี ขนาดของชิ้นงานอาร์ตเวิร์ก (artwork size) คือสิ่งที่นักออกแบบต้องทดไว้ในใจว่า งานออกแบบที่เราดูแลอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นแคมเปญโฆษณาในปัจจุบันที่มีทั้งสื่อออฟไลน์และออนไลน์นั้น ในแคมเปญหนึ่ง ๆ ประกอบไปด้วยสื่อขนาดใดบ้าง เพราะนักออกแบบจะต้องปรับชิ้นงานจากชิ้นมาสเตอร์ไปสู่ชิ้นงานขนาดเล็ก-ใหญ่ แนวนอน-แนวตั้งแตกต่างกันไป เพื่อให้งานออกแบบทั้งแคมเปญเป็นงานที่มีดีไซน์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขณะเดียวกันแต่ละชิ้นงานก็มีดีไซน์ที่ “พอดี” และ “ลงตัว” ในแต่ละสื่อนั่นเอง
5. พื้นที่ว่าง (space)
พื้นที่ว่าง (space) ช่วยเสริมความโดดเด่นให้กับงานกราฟิกดีไซน์
space หรือพื้นที่ว่าง บางครั้งก็เรียกว่า negative space บ้างก็เรียกว่า white space แต่ไม่ว่าพื้นที่ที่เว้นให้ว่างจะเป็นสีอะไรก็ตามที พื้นที่ที่ปล่อยให้ว่างนี้เป็นปัจจัยที่มักถูกมองข้ามในงานออกแบบกราฟิก เป็นเหมือนห้วงอวกาศอันเวิ้งว้างที่ยังรอการสำรวจ :) แต่เจ้าพื้นที่ว่างนี้แหละ ที่หากใช้ให้เป็น นับเป็นสิ่งที่ใช้ “เติมเต็ม” และ “ส่งเสริม” ชิ้นงานนั้นให้ดีขึ้น เด่นขึ้นได้
กล่าวโดยสรุปคือ พื้นที่ว่างเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานออกแบบ เพราะมันช่วยให้งานออกแบบชิ้นหนึ่ง ๆ ดูสะอาดตา โดดเด่น มีพลัง และที่สำคัญคือขับให้ข้อความชัดขึ้น อ่านง่ายขึ้นได้
6. การตัดกัน (contrast)
การตัดกัน (contrast) ของรูปร่างและสี เพิ่มมิติให้กับงานกราฟิกดีไซน์
contrast หรือการตัดกัน หรือการเปรียบต่างกันของสี รูปทรง และขนาด ทั้ง ใหญ่/เล็ก หนา/บาง สว่าง/มืด เมื่อนำมาใช้ในงานออกแบบจะช่วยสร้างมิติให้กับชิ้นงาน และบอกเล่าเรื่องราวที่นักออกแบบต้องการสื่อออกไปได้อย่างทรงพลัง
7. ฟอนต์ (font)
ฟ้อนต์ (font) มีหลากหลายรูปแบบ เพื่อใช้ประกอบในงานออกแบบกราฟิก
ฟอนต์ก็คือหน้าตาของตัวอักษรที่ปรากฏในงานออกแบบ ซึ่งฟอนต์ที่แตกต่างกันก็จะช่วยสร้างเอฟเฟกต์ที่เราต้องการได้ เช่น อ่านง่ายสบายตา ความมีชีวิตชีวา ความเป็นกันเอง ความทันสมัย หรือสร้างความขึงขังเป็นทางการ เป็นต้น